“ถิรไทย” วางโรดแมปธุรกิจ 3 ปี เตรียมกวาดรายได้หม้อแปลงไฟฟ้า 3,000 ล้านบาท
บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้นำตลาดหม้อแปลงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมด้านพลังงานรายใหญ่ของประเทศ วางโรดแมป 3 ปี บุกตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ หวังกวาดรายได้ทะลุ 3,000 ล้านบาท รับเทรนด์กลุ่มลูกค้าต้องการสินค้าคุณภาพสูง ชูความพร้อมหลังได้งานหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ระดับ 525 kV จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ขณะที่ผลประกอบการสิ้นปี 66 มั่นใจทำได้ตามเป้ากวาดรายได้รวม 2,314 ล้านบาท โต 20% ลุ้นปีหน้าเติบโตต่อเนื่อง หลังตุน Backlog กว่า 1,979 ล้านบาท
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง หม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาด ของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจภายในระยะ 3 ปีข้างหน้าว่า มีแนวโน้มผลการดำเนินงานเติบโตเป็นบวก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ที่บริษัทฯ คาดว่าจะมีรายได้รวมถึง 3,000 ล้านบาท เนื่องจากตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีความต้องการสินค้ากลุ่มหม้อแปลงขนาดใหญ่และเป็นสินค้าคุณภาพ ซึ่งตรงกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า และขยายตลาดกลุ่มหม้อแปลงขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
“นโยบายของบริษัทฯ เราผลิตหม้อแปลงทุกรูปแบบและทุกขนาด แต่จังหวะการทำตลาดในแต่ละกลุ่มสินค้าไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมาตลาดหม้อแปลงขนาดกลางและเล็กมีสัดส่วนมาก โดย 5 ปีที่ผ่านมาเราลงทุนซื้อไลเซนส์จากซีเมนต์ เพื่อผลิตหม้อแปลงขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้รับการยอมรับแล้วว่าสินค้าของเรามีมาตรฐาน และคุณภาพระดับโลก ทำให้พร้อมที่จะทำตลาดและสร้างการเติบโตได้ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ประกอบกับเทรนด์ลูกค้ามีความต้องการสินค้าคุณภาพสูง ซึ่งเราถือเป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว ที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้า ว่ามีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับโลก” นายสัมพันธ์ กล่าว
ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2567 บริษัทฯ คาดว่าจะยังคงรักษาการเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 20% จากปี 2566 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเติบโตของทั้ง 2 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า (Transformer) มีลูกค้าหลักเป็นหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง (MEA) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) บริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัททั่วไป ตลาดต่างประเทศทั่วโลก ธุรกิจการให้บริการ รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ด้วย และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลง (Non-Transformer) อาทิ รถกระเช้า, รถเครน, ถังหม้อแปลงไฟฟ้า และแบตเตอรีลิเธียม
โดยบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าติดตามงานประมูลอย่างต่อเนื่องเพิ่มเติมอีกกว่า 14,922 ล้านบาท ซึ่งปกติจะมีโอกาสประสบความสำเร็จจากการได้งานประมาณ 20% ที่จะเข้ามาเป็นรายได้ในปีหน้าด้วย นอกจากนี้ ยังมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ในปี 2567 อีก 1,979 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 1,792 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลงอีก 187 ล้านบาทด้วย
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า แม้ทิศทางและแนวโน้มตลาดหม้อแปลงในปี 2567 จะมีทิศทางเป็นบวก แต่ภาวะการแข่งขันในตลาดยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งตลาดภายในประเทศถือว่าบริษัทฯ มีความได้เปรียบกว่าคู่แข่งในตลาด เนื่องจากจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่มุ่งเน้นสินค้าคุณภาพสูง และถือเป็นผู้นำตลาดในกลุ่มสินค้าดังกล่าว ซึ่งกลยุทธ์การทำตลาดในปีหน้า ยังคงเน้นการทำตลาดด้วยการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของลูกค้า ส่วนตลาดต่างประเทศในปีหน้า บริษัทฯ จะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ตามทิศทางความต้องการของลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมายอดขายตลาดต่างประเทศมีสัดส่วนลดลง เพราะบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก นอกจากนี้ ในอนาคตเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ในตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
สำหรับทิศทางธุรกิจในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 ยังคงมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวก ซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาพรวมในปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2,314 ล้านบาท เติบโตในอัตรา 20% จากปี 2565 ที่ผ่านมามีรายได้รวม 1,720 ล้านบาท โดยรายได้ในปีนี้จะมาจากกลุ่มธุรกิจหม้อแปลง จำนวน 2,120 ล้านบาท และกลุ่มที่ไม่ใช่หม้อแปลงอีก 194 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกที่ผ่านมาบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 1,387 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้กลุ่มธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า 1,298 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่หม้อแปลงไฟฟ้า จำนวน 89 ล้านบาท
“แนวโน้มในไตรมาส 4 ภาพรวมมีทิศทางเติบโตทีดีค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้รวมของบริษัทฯ เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะไตรมาส 4 บริษัทฯ ต้องทำรายได้อีกกว่า 700 ล้านบาทเท่านั้น และปัจจุบันก็มี Backlog ที่จะรับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายอีก 772 ล้านบาท จึงคาดว่าผลประกอบการโดยรวมน่าจะเป็นบวกตามที่วางเป้าหมายไว้” นายสัมพันธ์ กล่าวสรุปในตอนท้าย