ม.ทักษิณและภาคีเครือข่ายร่วมกันพัฒนานวัตกรรมสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างรากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวพื้นเมืองในงาน “เทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ” จ.ปัตตานี
มหาวิทยาลัยทักษิณและองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม จัดกิจกรรมสร้างสรรค์จากฐานรากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างชุมชนสันติสุขและพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้คนในชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความความรัก ความสามัคคี และลดความระแวงซึ่งกันระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม และชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ
“เทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ” เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์สู่การสร้างนวัตกรรมชุมชนและพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืน โดยชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการให้เกิดกิจกรรมเพิ่มมูลค่าข้าวพื้นเมืองของจังหวัดปัตตานี เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนกับภาคภาคีเครือข่ายและสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวตำบลท่าข้าม โดยมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อต้องการให้มีการขยายวงกว้างให้มากขึ้นกับบุคคลภายนอกได้รับรู้และได้รู้จักข้าวเมาะโน๊ะมากยิ่งขึ้น
23 เมษายน 2567 อาจารย์ ดร.นิชากรณ์ พันธ์คง ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ ร่วมพิธีเปิดงานเทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ “เล่นว่าว กินข้าว เป่าปี่” โดย นายมนต์ชัย หนูสาย ปลัดอำเภออาวุโส อำเภอปะนาเระ ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี ซึ่งกิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ : กิจกรรมสร้างสรรค์จากรากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างนวัตกรรมชุมชนและพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืน นำโดย อาจารย์อัฏฐพล เทพยา และคณะอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ร่วมกันจัดกิจกรรมเทศกาลข้าวเมาะโน๊ะขึ้น ณ ศาลานาบู ชุมชนบ้านทุ่ง ตำบลท่าข้าม อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ซึ่งในงานเทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ จัดขึ้นในวันที่ 22-23 เมษายน 2567 โดยกิจกรรมในวันที่ 22 เมษายนนั้นประกอบด้วย การแข่งขันว่าวสูง (รอบคัดเลือก) ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันกว่า 140 ทีม มีชาวบ้านที่สนใจทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ และยังมีการแข่งขันทำหุ่นไล่กา เพื่อเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชนดั่งเดิมของท้องถิ่น และกิจกรรมในวันนี้นั้นประกอบด้วยกิจกรรมการทำนาโยน โดยต้นกล้าพันธุ์ข้าวที่ทำการปลูกแบบโยน คือ ข้าวเมาะโน๊ะ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในชุมชนบ้านทุ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นเวลสานานหลายช่วงอายุคน เป็นข้าวที่เหมาะกับที่มีน้ำกร่อย โดยใช้ระยะเวลาในการปลูกจนเก็บเกี่ยว 4 เดือน ลักษณะของเมล็ดข้าวจะมีความยาวเรียว มีสารอาหาร มีคุณค่าทางโภชราการสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระดี เหมาะกับผู้ที่รักสุขภาพ กิจกรรมต่อไปคือการรแข่งขันทำอาหารพื้นบ้าน โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 4 ทีม ซึ่งเป็นชาวบ้านในตำบลท่าข้าม ที่มีการรักในการทำอาหารท้องถิ่นของตนเอง โดยวัตถุดิบท้องถิ่นหลักนั้นก็คือ ลูกตาลโตนด ซึ่งทุกทีมต้องรังสรรค์เมนูต่างๆ ที่มีวัตถุดิบหลักเป็นส่วนประสมในเมนู พร้อมเสริฟ์เป็นสำรับทานคู่กับข้าวสาวเมาะโน๊ะ กิจกรรมต่อไปคือการแข่งขันว่าวสูง (รอบชิงชนะเลิศ) ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 30ทีม โดยจะแบ่งเป็นประเภทสวยงามและประเภทสร้างสรรค์ และยังมีกิจกรรมการแข่งขันเป่าปี่ซังข้าวและยิงหนังสติ๊ก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับรู้ถึงวิถีชุมชนและยังอนุรักษ์ในการเล่นเป่าปี่ซังข้าว ยิงหนังสติ๊ก ซึ่งอาจจะเห็นได้น้อยลงแล้วในยุคสังคมปัจจุบัน และนอกจากกิจกรรมต่างๆ แล้วนั้น ยังมีการเปิดร้านจำหน่ายข้าวและสินค้าท้องถิ่นที่ได้จากการพัฒนาและแปรรูปจากข้าวเมาะโน๊ะ ซึ่งในพื้นที่จะเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร ทำนาข้าว น้ำตาลโตนด แม้ภายในชุมชนจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้วนั้น แต่ชาวบ้านในชุมชนก็ยังรู้สึกระแวงและไม่ปลอดภัย ประกอบกับรายได้ในครัวเรือนที่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายอีกด้วย จึงทำให้ผู้จัดทำโครงการได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อสืบสวนและอนุรักษ์ภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมชุมชนสันติสุข โดยสามารถยกระดับในการสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวเมาะโน๊ะ ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไปด้วยการออกแบบและนวัตกรรมต่างๆ ให้ดีขึ้น และยังส่งเสริมให้ใช้พื้นที่สาธารณะของชุมชนร่วมกันทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ เพื่อสร้างความความรัก ความสามัคคี และลดความระแวงซึ่งกันระหว่างกัน ยังเป็นการผสมผสานชุมชนและพหุวัฒนธรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โครงการเทศกาลข้าวเมาะโน๊ะ : กิจกรรมสร้างสรรค์จากรากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างนวัตกรรมชุมชนและพหุวัฒนธรรมที่ยั่งยืน เป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้คนในชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความรัก สามัคคี และลดความระแวงซึ่งกันและกันระหว่างไทยพุทธกับ มุสลิม และชาวบ้านกับหน่วยงานรัฐ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน