ประเมินอาการผู้ป่วยโควิด สีเขียว เหลือง แดง รู้ผลติดเชื้อ ทำอย่างไรต่อ
- ประเมินอาการความรุนแรงของผู้ป่วยยืนยันติด “โควิด-19” ก่อนรักษา เข้าข่ายกลุ่มสีเขียว เหลือง หรือแดง
- กรณีหาเตียงให้ผู้ป่วยที่มีหลักประกันสุขภาพ ติดต่อกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ โทร 1330 กรณีเป็นผู้ประกันตน แจ้งสำนักงานประกันสังคม โทร 1506
- เมื่อผู้ป่วยโควิดประเมินเบื้องต้นแล้ว อาการไม่รุนแรง แนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation)
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค “โควิด-19” ในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานประกอบการ แคมป์คนงาน หรือชุมชนที่อยู่ร่วมกัน ขณะที่ในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร จังหวัดแถบปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ พบปัญหาในด้านการบริหารจัดการเตียง ของผู้ติดเชื้อที่รอรับการรักษาจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อสามารถให้การวินิจฉัยเร็ว ลดอาการรุนแรงจากโรคและการเสียชีวิต การจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในชุมชน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยและลดการแพร่ระบาดในชุมชน ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจรับการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือเข้ารับการแยกกักในชุมชน (Community Isolation) หากมีอาการรุนแรงขึ้นสามารถนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์แรก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นได้ ผู้ป่วยควรสังเกตอาการตนเอง และเมื่อเข้าไปรับการตรวจประเมินเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมได้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว แต่อาจจะยังมีเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 อยู่ในสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยระยะเวลาหนึ่งหลังจากเริ่มป่วย
คำนิยามผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ “โควิด-19”
1. ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย (Probable Case) ผู้ที่มีผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ให้ผลบวก ทั้งผู้ที่มีอาการและไม่แสดงอาการ
2. ผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed Case) ประกอบด้วย
- ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยวิธี RT-PCR ยืนยันจากห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง 1 แห่งหรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ
- ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ (Asymptomatic Infection) หรือ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการ (Symptomatic) ผู้ที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (วิธี RT-PCR) ยืนยันจากห้องปฏิบัติการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง 1 แห่ง หรือ Sequencing หรือเพาะเชื้อ แต่ไม่มีอาการและอาการแสดง
สำหรับการประเมินอาการความรุนแรงของผู้ป่วยยืนยันว่าติดโควิด-19 ก่อนจะทำการรักษา โดยแบ่งเป็นระดับได้ 3 ระดับ
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีเขียว คือ อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยที่เริ่มติดโควิด-19 มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดปกติ หรือไม่มีอาการ
- มีไข้ วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาขึ้นไป
- ไอ, มีน้ำมูก
- เจ็บคอ
- ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- ตาแดง
- มีผื่น
- ถ่ายเหลว
- หายใจปกติ
- ไม่เหนื่อย
- ไม่หายใจลำบาก
- ไม่มีปอดอักเสบ
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีเหลือง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มจะมีอาการ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญ ข้อใดข้อหนึ่ง
- แน่นหน้าอก
- หายใจลำบาก
- เวลาไอแล้วเหนื่อย
- อ่อนเพลีย
- เวียนหัว
- อาเจียน
- มีปอดอักเสบ
- ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้ง/วัน
กลุ่มผู้ป่วยอาการสีแดง คือ ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก
- หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา
- แน่นหน้าอกตลอดเวลา
- หายใจแล้วเจ็บหน้าอก
- ซึม
- เรียกไม่รู้สึกตัว หรือตอบสนองช้า
- ปอดบวมที่มี Hypoxic (risting O2 saturation <96%) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 มากกว่าหรือเท่ากับ 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง หรือภาพรังสีทรวงอกมี Progression ของ Pulmonary infiltrates
อย่างไรก็ตาม “ผู้ป่วยสีเขียว” ให้ใช้การรักษาด้วยวิธี Home Isolation หรือ Community Isolation หรือโรงพยาบาลสนามในชุมชน หากมีอาการมากขึ้นให้พิจารณาส่งต่อสถานพยาบาลรักษา และยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ส่วน “ผู้ป่วยสีเหลือง/สีแดง” ให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล
ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า เมื่อพบผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กรณีที่ผู้แจ้งเป็นเจ้าบ้านหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลบ้าน ให้แจ้งชื่อที่อยู่ของตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเป็นโรคติดต่ออันตราย พร้อมแจ้งชื่อ, อายุ, เพศ, สัญชาติ, ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ป่วย, วันเริ่มป่วย และอาการสำคัญที่ปรากฏด้วย
ส่วนกรณีที่เป็นเจ้าของหรือผู้ควบคุมสถานประกอบการ ให้แจ้งชื่อ, ที่อยู่, สถานที่ทำงานของตนเอง, ความสัมพันธ์กับผู้ที่ป่วย, ชื่อ, อายุ, เพศ, สัญชาติ, ที่อยู่ปัจจุบัน และอาการสำคัญของผู้ป่วยด้วย โดยสามารถแจ้งข้อมูลดังกล่าวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือสำนักอนามัย กทม. หรือสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน
สำหรับการหาเตียงให้ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยที่มีหลักประกันสุขภาพ ติดต่อกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) โทร 1330 หรือกรณีเป็นผู้ประกันตน แจ้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โทร 1506 จะมีเจ้าหน้าที่ประเมินอาการเบื้องต้น ถ้ามีอาการไม่รุนแรง จะแนะนำให้แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ก่อน โดยจะจัดส่งชุดเวชภัณฑ์ดูแลรักษาโรคเบื้องต้นไปให้ที่บ้าน
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจขั้นยืนยันผลด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง หากผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอย (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ป่วยเข้ามาอยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และรับยาได้ทันที โดยในส่วนของศูนย์พักคอยฯ จะมีใบยินยอม (Consent form) ให้ผู้ป่วยกรอกรายละเอียดข้อมูลก่อนเข้ารับการรักษาในศูนย์พักคอย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเดินทางไปตรวจที่หน่วยบริการ ซึ่งทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้วมีผลเป็นบวกที่แสดงว่าติดเชื้อ จะทำการส่งตัวเข้าศูนย์พักคอยก่อน โดยไม่ต้องรอผลตรวจ RT-PCR ระหว่างนี้ให้แยกอยู่ไม่ปะปนกับผู้ป่วยยืนยันรายอื่น
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์