ไทยรุ่งฯ ส่ง Transformer II ตกแต่งพิเศษฉลองครบ 55 ปี เผยตลาดรถโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าฟันรายได้ไตรมาส 4 ไม่ต่ำกว่า 25-30% เมื่อเทียบปี 64
ไทยรุ่งฯ ฉลองครบรอบ 55 ปีเปิดตัว Transformer II-Stradale edition ออกแบบใหม่สไตล์สปอร์ตเพิ่มความคล่องตัวสำหรับการใช้งานในเมืองตอบโจทย์คนยุคใหม่มากขึ้น ตอกย้ำความเป็นรถเอนกประสงค์สายพันธุ์ไทย ชี้หลังโควิดคลี่คลายตลาดรถยนต์กลับมาคึกคักมากขึ้นคาดรายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,019.31 ล้านบาท อนาคตโดดร่วมวงชิงแชร์ตลาดรถ EV ทั้งผลิตชิ้นส่วนป้อนผู้ผลิตทั้งหน้าใหม่หน้าเก่า รับจ้างประกอบและพัฒนารถ EV สายพันธุ์ไทย คาดปลายปีเปิดตัว EV-minibus หลังซุ่มวิจัยพัฒนามากว่า 2 ปี
ในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการก่อตั้ง บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่ของเมืองไทย นายสมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดใจถึงการดำเนินธุรกิจในรอบ 55 ปีที่ผ่านมาว่า บริษัท ไทยรุ่งฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 โดยคุณวิเชียร เผอิญโชค โดยในช่วงแรกใช้ชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยรุ่งวิศวกรรม เริ่มต้นทำธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์เป็นหลัก เมื่อมีประสบการณ์และความชำนาญมากขึ้นเราก็มาออกแบบดัดแปลงตัวถังรถบรรทุกอีซูซุรุ่นต่างๆ ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้คนไทยโดยออกแบบให้ห้องโดยสารของรถบรรทุกมีขนาดใหญ่ขึ้นกว้างขึ้นและสูงโปร่งขึ้นจากเดิมพร้อมทั้งขยายขนาดกระบะบรรทุกให้บรรทุกของได้มากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ.2516 เราได้ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ คือ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด ขึ้นมารับจ้างต่อตัวถังรถกระบะและผลิตอะไหล่
“สิ่งที่ทำให้บริษัทไทยรุ่งฯ โดดเด่นขึ้นมาคือการดัดแปลงรถกระบะให้มีที่นั่งในห้องโดยสาร เพิ่มขึ้น ด้วยการตัดส่วนกระบะทำห้องโดยสารเพิ่มที่นั่งอีก 1 แถว กลายเป็นรถกระบะแบบ 2 ตอน 4 ประตู ซึ่งเราทำขึ้นมาเป็นเจ้าแรกของประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ. 2522 โดยเรียกรถดัดแปลงรุ่นนี้ว่า ดับเบิ้ล แค็บ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ไทยรุ่งฯได้มีโอกาสเป็นผู้ริเริ่มผลิตรถยนต์ดัดแปลง สเตชั่นวากอน เครื่องยนต์อีซูซุ ภายใต้เครื่องหมายการค้า TR ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 จนได้รับการยอมรับและให้ความไว้วางใจจาก บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ในขณะนั้นให้เป็นผู้ประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่งภายใต้ชื่อ TR Adventure”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 เราได้ร่วมมือกับบริษัท สยามนิสสัน ประกอบรถอเนกประสงค์ 7 ที่นั่งภายใต้ชื่อ TR Xciter และปีพ.ศ. 2550 ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เชฟโรเล็ต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ภายใต้ชื่อ TR Allroader และในปัจจุบัน ได้นำรถ Toyota Revo มาประกอบเป็นรถ TR TRANSFORMER และในโอกาสครบรอบ 55 ปีเราได้เปิดตัว TR TRANSFORMER II ที่ออกแบบในลุคสปอร์ต ให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งาน ไม่ว่าจะการขึ้นลง หรือแม้แต่การใช้งานในเมือง และยังมีชุดแต่งพิเศษอีกด้วย
เมื่อถูกถามถึงกลยุทธ์ที่ทำให้ไทยรุ่งฯสามารถดำเนินธุรกิจมาได้อย่างยาวนาน มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งที่ผ่านมาวิกฤตใหญ่ๆ มาหลายครั้ง นายสมพงษ์ ระบุว่า เป็นเพราะบริษัทได้พยายามปรับตัวและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราลงทุนในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พัฒนาระบบการทำงาน และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรที่จะสามารถร่วมกันต่อยอดธุรกิจ จุดหลักที่ช่วยให้ไทยรุ่งอยู่มา 55 ปีและผ่านพ้นหลายวิกฤตมาได้คือการบาลานซ์ระหว่างโอกาสและความเสี่ยง และไม่ลงทุนเกินตัว ซึ่งช่วยให้เรามีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้คล่องขึ้นในวันที่ต้องเผชิญกับวิกฤต
“ดีเอ็นเอของไทยรุ่งฯคือดีเอ็นเอที่มุ่งพัฒนารถเพื่อคนไทย ตอบสนองความต้องการของคนไทย เราทำในสิ่งที่แตกต่าง ทำในสิ่งที่ยี่ห้ออื่นๆเขาไม่ได้ทำหรือทำแต่ยังขาดอะไรบางอย่างไป อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจเรายังเน้นเรื่องการอยู่ร่วมกัน ใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราทำผลิตภัณฑ์ออกมามีคุณภาพเจ้าของ แบรนด์เขาก็ขายสินค้าได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นปัจจุบันถ้าเราขาย TR TRANSFORMER ได้หนึ่งคัน โตโยต้าเขาก็ขาย Revo ได้หนึ่งคัน มันก็เป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เราก็ยังยึดแนวทางนี้อยู่ ก็ดูว่าอะไรในเมืองไทยมีเราก็นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งก็มีทั้งที่เราทำขึ้นเองและทำให้กับแบรนด์ต่างๆ เหมือนกับที่ทุกวันนี้เราทำกระบะแบบพื้นเรียบให้กับอีซูซุส่งออกขายทั่วโลกเดือนละพันกว่าชิ้นเป็นต้น”
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจของไทยรุ่งฯ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ การผลิตชิ้นส่วนคิดเป็นประมาณ 50% รับจ้างประกอบ 35-36% ที่เหลือก็คือรถที่เราผลิตออกมาจำหน่ายอย่าง TRANSFORMER และงานอื่นๆ
นายสมพงษ์ ยังได้กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทไทยรุ่งฯ ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมาว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีของไทยรุ่งฯ หลังเจอวิกฤตโควิดที่ทำให้การเดินทางของผู้คนหยุดชะงักไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลายคนก็กลบมาเดินทางกันมากขึ้น ยอดขายรถในประเทศก็มากขึ้น ทำให้บริษัทมีการฟื้นตัวจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งงานชิ้นส่วน งานรับจ้างประกอบครึ่งปีที่ผ่านมาก็ขยายตัวค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,019.31 ล้านบาท ซึ่งจากผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีแรกก็คาดว่ามีโอกาสที่จะสามารถมีรายได้และกำไรทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีงานเข้ามาต่อเนื่องและส่วนมากเป็นงานที่มี value added สูง
“แม้ปัญหาสงครามยูเครนรัสเซียจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งส่งผลต่อการผลิตรถยนต์อยู่บ้างจนทำให้เกิดแบล็คออเดอร์แต่ถ้าสงครามไม่รุนแรงกว่านี้ก็ยังทำให้ตลาดรถยนต์เติบโตได้ เพียงแต่จะโตไม่สุดหรือพีคอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไทยรุ่งฯก็มีงานใหม่ๆเข้ามาชดเชยรายได้ส่วนที่หายไปตรงนี้ อย่างเช่น ยอดขายของเครื่องจักรกลทางการเกษตรของเราก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึงเป็นผลจากราคาพืชผลทางการเกษตรในปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้มีความต้องการเครื่องจักรกลทางการเกษตรมากขึ้น ตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด บริษัทก็ได้รับการยืนยันคำสั่งซื้อรถหัวขุดตักรุ่นใหม่เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในปี 2566 และจะขยายไปประเทศอื่นอีกด้วย”
นอกจากนี้บริษัทยังขยายงานไปสู่การรับจ้างประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เช่น EV-Tuktuk, EV-minibus โดยมีออเดอร์ในมือแล้วกว่า 700 คัน รวมถึงยังมีโอกาสที่จะรับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ EV ในอนาคต และเรายังมองไปถึงการร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนารถ EV ด้วย เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ
ขณะที่ผลิตภัณฑ์เดิมที่เรามีอยู่อย่างรถ TRANSFORMER เราก็มีการพัฒนาให้เกิดสินค้าใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เช่น รถหุ้มเกราะ ที่ใช้ในภารกิจพิเศษซึ่งเราพัฒนาเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการทดสอบและขึ้นทะเบียนจากทางราชการเพราะรถหุ้มเกราะถือเป็นยุทธภัณฑ์ คาดน่าจะขึ้นทะเบียนได้เร็วๆนี้ ขณะที่ Transformer II-Stradale edition ที่เปิดตัวล่าสุด เราออกแบบในสไตล์สปอร์ตมากขึ้น ทำให้สามารถใช้งานในเมืองอย่างคล่องตัวตอบโจทย์คนยุคใหม่มากขึ้นแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ ด้วยการใช้งานในการขึ้นลงสะดวก การออกแบบที่ทันสมัย สามารถใช้งานได้ทั้ง ผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงยังพยายามส่งออกไปยังต่างประเทศ หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย คาดว่าจะสร้างยอดขายได้ดีขึ้น ซึ่งรุ่นตกแต่งพิเศษ Transformer II-Stradale edition เบื้องต้นจะผลิตออกมา 55 คัน ในโอกาสบริษัทครบรอบ 55 ปี ส่วนรุ่นอื่นๆก็ผลิตจำหน่ายตามปรกติ
“สำหรับ TR TRANSFORMER II เรายังคงคอนเซ็ปต์ แตกต่างอย่างมีสไตล์ ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ขับขี่ ตอกย้ำความเป็นรถเอนกประสงค์สายพันธุ์ไทย กลุ่มเป้าหมายหลักของเรายังคงเน้นกลุ่มลูกค้าในประเทศที่ชอบความแตกต่าง ซึ่ง TR TRANSFORMER II สามารถตอบสนองต่อลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์หลากหลายรูปแบบ ด้วยการออกแบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากนี้เรายังคิดวิจัย พัฒนารถเพื่อให้กลุ่มลูกค้าหน่วยงานใช้ในภารกิจพิเศษต่างๆ ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ.2565 เรามียอดสั่งจองมาจากต่างประเทศ และมีการซื้อต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 ไม่ต่ำกว่า 100 คัน ซึ่งเราตั้งเป้ายอดขายรวม TRANSFORMER ทุกรุ่นในปีนี้ไว้ที่ประมาณ 250 คันแบ่งเป็นส่งออกและขายในประเทศอย่างละครึ่ง” นายสมพงษ์ กล่าวพร้อมระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของไทยรุ่งฯ ขยับลงมาที่ อายุวัยทำงานมากขึ้น บริษัทจึงเริ่มศึกษา ออกแบบและวิจัยตลาด ซึ่งจะต้องมองหลายๆ มุม โดยดึงจุดเด่นๆของรถ TR TRANSFORMER II มาใช้ในการพัฒนารถ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่จะมีไลฟ์สไตล์ และความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งเราจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และจะค่อยๆปล่อยรถใหม่ๆออกมาสู่ตลาดอย่างแน่นอน
เมื่อถูกถามถึงกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นไทยรุ่งฯจะมีผลิตภัณฑ์ด้านนี้ออกมาหรือไม่ นายสมพงษ์ ระบุว่า แน่นอนว่า Trend ของ EV เป็น Mega trend ที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเรามองว่าการมาของ EV เป็นโอกาสให้ไทยรุ่งฯ เพราะสิ่งที่แตกต่างออกไปของรถ EV คือเรื่องระบบการขับเคลื่อน แต่ชิ้นส่วนต่างๆ ยังเหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็นตัวถัง การตกแต่ง เราไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกบระบบการขับเคลื่อนจึงได้รับผลกระทบน้อย ตรงกันข้ามผมกลับมองว่าในอนาคตจะเกิดแบรนด์รถใหม่ๆอีกจำนวนมาก เราะว่ารถ EV ระบบการขับเคลื่อนใช้ชิ้นส่วนหลักไม่มาก และผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน ซึ่งหลักคิดการทำธุรกิจของจีนคือผลิตและขายมากที่สุด ตรงนี้ก็จะทำให้เกิดแบรนด์รถใหม่ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก แน่นอนว่าจะทำให้มีความต้องการชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับระบบขับเคลื่อนมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสของเราที่จะขยายการจำหน่ายชิ้นส่วนให้กับบริษัทใหม่ๆ นอกเหนือจากบริษัทที่เป็นคู่ค้ากับเราในปัจจุบัน และยังมีโอกาสให้เรารับประกอบรถยนต์แบรนด์ใหม่ๆ มากขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญเราเป็นผู้ผลิตตัวถังอยู่แล้ว ซึ่งทำให้เรามีโอกาสที่จะไปสรรหา EV Chassis ที่เหมาะสมกับการใช้งานในประเภทต่างๆ มาพัฒนาผลิตภัณธ์ใหม่ๆได้มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากแต่ก่อนที่เป็นไปได้ยากที่เจ้าของแบรนด์จะขายแต่เครื่องยนต์มาให้บริษัทอื่นพัฒนา
“ไทยรุ่งฯ อยากเข้าไปอยู่ใน value chain ของ EV และ Mobility รูปแบบใหม่อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้เริ่มจากการผลิต EV-Tuktuk ให้กับบริการ Last mile ride Sharing (Muvmi) ซึ่งก็เป็น Trend แห่งอนาคตและมีการเติบโตที่ดี นอกจากนี้ก็ยังมี EV-minibus ที่เราวิจัยพัฒนามากว่าสองปี ที่น่าจะเปิดตัวขายได้ประมาณปลายปีนี้ และตอนนี้ก็อยู่ในช่วงพัฒนา EV ในรูปแบบอื่นๆทีน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ส่วนเรื่องจะผลิตเป็นแบรนด์ไทยรุ่งเลยหรือไม่นั้นคงขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสต่างๆมากกว่า”